Home > กว่าจะเป็น HEINZ ซอสมะเขือเทศแบรนด์ดังที่แสนคุ้นเคย
เนื้อซอสสีแดง หนืดเหนียว เข้มข้นไปด้วยมะเขือเทศแดงสุกเสริมรสชาติให้หวานอมเปรี้ยว เป็นเครื่องปรุงประจำบ้านที่มีให้เห็นตามครัวเรือนและร้านอาหารโดยทั่วไปอีกทั้งยังเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่หลายคนต้องคิดว่ามีรากเหง้าจากประเทศอเมริกา
ด้วยประชากรในประเทศเกือบ 97% ที่มีการบริโภคซอส รวมถึงแบรนด์อาหาร Fast Food เจ้าดังหลายเจ้าในอเมริกานำซอสมะเขือเทศเป็นตัวเลือกในการรับประทานเคียงคู่ แต่เมื่อสืบลึกลงไปกลับค้นพบว่า ซอสที่ว่ากลับมีความเป็นมาจากประเทศจีน
จุดเริ่มต้นของซอสเนื้อแดงมาจากนักเดินทางชาวอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 17-18 ได้มีการนำสูตรซอสจีนซึ่งมีรสชาติคล้ายน้ำปลากลับมายังประเทศบ้านเกิดแล้วพยายามลอกเลียนแบบให้ได้รสชาติที่เหมือนกัน
แต่สูตรที่ว่ากลับถูกปรับเปลี่ยนมาตลอดจนกระทั่งนักวิทยาศาสตร์พืชสวนชาวอเมริกัน James Mease ได้ลองนำมะเขือเทศมาเป็นส่วนผสมหลักแต่นี่ยังไม่ใช่ซอสที่เราคุ้นเคยเพราะเขาทำเพียงแค่เพิ่มมะเขือเทศเป็นหนึ่งในส่วนผสมเท่านั้น
และมนุษย์เราไม่เคยหยุดพัฒนารวมถึงรสชาติซอสที่ยังถูกปรับเปลี่ยนมาตลอดจนกระทั่งมีคนนำสารกันบูดเป็นหนึ่งในวัตถุดิบหลักเพื่อยืดอายุซอสให้ยาวนานมากกว่า 6เดือนและด้วยระยะการเก็บที่ยาวนานทำให้ซอสได้รับความนิยมอย่างมาก
ซึ่งการใช้สารกันบูดถูกมองเป็นเรื่องปกติของอุตสาหกรรมอาหารยุคนั้น แน่นอนว่าสุดท้ายแล้วความอันตรายของสารเคมีชนิดนี้ก็ได้แสดงผลต่อสุขภาพประชาชน
ทำให้นักวิทยาศาสตร์หรือนักเคมีบางคนเริ่มสงสัยและทำการวิจัยส่วนประกอบของอาหารจนทราบถึงความอันตรายในสารกันบูด หลังจากมั่นใจในผลการทดลองก็ได้ถูกประกาศให้ทราบสู่สาธารณชน ที่สร้างความหวาดกลัวและไม่พอใจต่อประชาชนเป็นอย่างมาก
ถึงอย่างนั้น Henry J. Heinz มองเห็นปัญหาเรื่องความปลอดภัยของซอสเป็นโอกาสตีตลาดด้วยการคิดค้นสูตรที่ไม่ใส่สารกันบูด โดยนำน้ำส้มสายชูแทนสารกันบูด และผสมสูตรลับพิเศษเฉพาะเจ้าตัวที่กลายเป็นซอสมะเขือเทศแสนคุ้นเคยกันในปัจจุบัน ซึ่งได้มีการวางขายครั้งแรกปี 1876
ก่อนจะเป็น Heinz อาณาจักรซอสมะเขือเทศในทุกวันนี้ และก่อนที่ Henry J. Heinz จะคิดค้นซอสมะเขือเทศต้นตำรับที่เราทานกัน
ย้อนกลับไปช่วงวัยเด็กของ Henry เด็กหนุ่มผู้ชื่นชอบการเข้าครัวทำอาหารกับแม่จนถึงขั้นสร้างธุรกิจเล็กๆเองได้ ด้วยการทำซอสฮอร์สแรดิช (หรือเรียกกันว่า วาซาบิปลอม) มาขายในระแวกแถบนั้นในเมืองพิตต์สเบิร์ก จนกลายเป็นที่รู้จักแต่กลับไม่ได้กำไรอย่างที่ควร
ช่วงเวลาได้ผ่านไป จากเด็กหนุ่มกลายเป็นชายหนุ่มในวัย 25 ปี ที่มีแนวคิดสำหรับธุรกิจเกี่ยวกับอาหารกระป๋อง เขาจึงชักชวน L. Clarence Noble เพื่อนแถวบ้านเดียวกัน ร่วมเปิดบริษัท Heinz & Noble ที่มีรูปแบบธุรกิจจัดส่งสินค้าสินค้าอย่าง แตงกวาดอง ซอสฮอร์สแรดิช และอื่นๆ ตามร้านอาหาร คาเฟ่
นอกจากนั้นพวกเขายังรู้ดีว่าหากต้องการสร้างความโดดเด่นให้ตัวบริษัท ทั้งสองควรคำนึงถึงความสำคัญในเรื่องของคุณภาพเป็นอย่างมากส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายและการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจค่อนข้างสูงอีกทั้งยังมีการซื้อโรงงานผลิตน้ำส้มสายชูต่อยอดวงจรธุรกิจกลายเป็นช่วงเวลาแสนรุ่งโรจน์ของบริษัท
แต่แล้วเรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นเมื่อแตงกวาหนึ่งในวัตถุดิบหลักมีราคาสูงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้บริษัทที่ไม่ได้มีเงินหมุนเวียนมากพอจะจ่ายค่าสินค้าให้ชาวสวนจนเกิดการฟ้องร้องในเรื่องของความเสียหายจากการผิดสัญญา
และปัญหาเงินหมุนเวียนที่ไม่เพียงพอรวมถึงวิกฤตทางการเงินในอเมริกาที่ส่งผลต่อการปล่อยกู้จากธนาคารเป็นเรื่องยาก บริษัท Heinz & Noble จึงต้องขอยื่นล้มละลายขายทรัพย์สินเพื่อชดเชยค่าเสียหาย ปิดจบบริษัทอาหารกระป๋องที่เคยรุ่งโรจน์
หลังจากบริษัทปิดตัวลง Henry ต้องเผชิญความล้มเหลวครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต อีกทั้งยังถูกล้อเลียนสนุกสนานลงในหนังสือพิมพ์ประจำเมืองพิตต์สเบิร์ก
เขาเผชิญหน้าความผิดหวังที่แสนเจ็บปวดหมกตัวอยู่ในห้องเป็นระยะเวลานานหลายเดือนแต่โชคดีของ Henry ที่มีคนรอบตัวเข้าใจและคอยสนับสนุนโดยเฉพาะคุณแม่ที่คอยส่งกำลังใจอยู่ตลอดและยังเชื่อมั่นในตัวเขาด้วยการมอบเงินเก็บของตนเป็นทุนสำหรับเริ่มไอเดียธุรกิจใหม่
Henry ได้หยิบยื่นโอกาสนี้และนำประสบการณ์จากความผิดพลาดรวมถึงเงินทุนที่เขามีไปสู่การก่อตั้งบริษัทใหม่ปี1875 ด้วยชื่อ Heinz Food ที่จะทำการผลิตและขายซอสหรือแตงกวาดอง
ความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นเป็นบทเรียนล้ำค่าที่ทำให้เขาต้องบริหารบริษัทอย่างรอบคอบและระมัดระวังรวมถึงมีการพัฒนา คิดค้นซอสสูตรต่างๆอยู่ตลอดจนในปีต่อมาบริษัทได้เปิดตัววางขายซอสมะเขือเทศที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในโลกของอุตสาหกรรมอาหาร
และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆของอาณาจักรHeinz แต่ด้วยมุมมอง วิสัยทัศน์ รวมถึงประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นของHenry เขาเรียนรู้แล้วพัฒนาเผชิญหน้าความท้าทายใหม่ๆสร้างรากฐานของ Heinz ไว้อย่างมั่นคงก่อนส่งต่อให้ลูกหลาน
ไม่ว่าจะการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคมั่นใจในสินค้าของเขา หรือ ทำการตลาดที่ผันเปลี่ยนไปตามยุคสมัย และแบรนด์ที่ถูกออกแบบกลายเป็นเอกลักษณ์อย่างสโลแกน 57 varieties ที่มีให้เห็นทุกสินค้าของHeinzทั้งในอดีตและปัจจุบัน
57varieties สโลแกนที่หลายคนคุ้นเคยบนขวดซอสมะเขือเทศหนึ่งในสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงตัวตนของ Heinz มาตลอดนับตั้งแต่ยุคบุกเบิกของบริษัทแม้ในช่วงเวลานั้นสินค้าจะมีมากกว่า60ชนิด
แต่ Henry ยังคงเลือกเลข 57 มาใช้ด้วยความเชื่อว่านี่คือเลขนำโชคของเขา ซึ่งที่มาของสโลแกนเริ่มในช่วง1896 หลังจากเขาได้เห็นโฆษณา ‘รองเท้า 21สไตล์’ ที่จุดประกายไอเดียให้อยากนำมาใช้กับสินค้าตนเองจนกลายเป็นตัวเลขที่ทุกคนคุ้นเคย
นอกจากสโลแกน57แล้วอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของHeinzที่มีมาให้เห็นเป็นศตวรรษไม่ต่างกันอย่าง แพคเกจจิ้งขวดใสในตำนานด้วยรูปแบบขวดแก้วใสที่โชว์ให้เห็นถึงปริมาณและเนื้อซอสสีแดงสด ตัวซอสที่หนืดเหนียวซึ่งมีอัตราความเร็วในการไหลลงอยู่ 0.28mphทุกขวดก่อนทำการวางขาย
ด้วยความหนืดของซอสกลายเป็นหนึ่งในปัญหาที่หลายคนมักจะประสบพบเจอไม่ต่างกัน
ทำให้ผู้คนต่างก็หาวิธีต่างๆในการเทซอสออกมาให้ได้รวดเร็วไม่ว่าจะ ตบตูดขวดซอส
หรือการใช้ตะเกียบแหย่ ซึ่งเป็นวิธีที่ผิดแถมยังเลอะเทอะอีกต่างหาก เพราะวิธีในการเทซอสมะเขือเทศHeinzที่ถูกต้องมีเพียง 3ขั้นตอนง่ายๆ
เพียงแค่นี้ก็จะได้ซอสมะเขือเทศออกมาอย่างง่ายดาย ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีการปรับเปลี่ยนแพคเกจจิ้งใหม่ให้เป็นขวดพลาสติกที่บีบง่ายขึ้นแต่ขวดแก้วใสก็ยังคงเป็นเอกลักษณ์สัญลักษณ์ของแบรนด์Heinzเสมอมา
อาณาจักรHeinz หรือ เจ้าตลาดซอสมะเขือเทศที่มีการเติบโตด้วยตัวเองและกลยุทธ์การตลาดที่ปรับเปลี่ยนตาม ยุคสมัยอีกทั้งยังมีการขยายการเติบโตกว้านซื้อธุรกิจอื่นเพื่อส่งเสริมธุรกิจหลัก จนกระทั่งในปี 2013 ถูกเข้าซื้อด้วยราคา 23พันล้านเหรียญโดยบริษัท Berkshire HathawayของWarren Buffet และ 3G Capital
หลังจากนั้นได้มีการควบรวมเข้ากับบริษัท Kraft Foods ซึ่งทำธุรกิจขายชีสถึง 31ชนิดและทำการเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น Kraft Heinz Company (KHC)กลายเป็นบริษัทอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ติดอันดับท็อป 5 ของโลก
แหล่งที่มา
https://astrumpeople.com/henry-j-heinz-biography
https://www.businessinsider.com/the-story-of-heinz-ketchup-2013-2?fbclid
https://www.rozdeba.com/the-secret-sauce-of-heinz-ketchup-unveiling-150-years-of-branding-mastery