Home > รู้จัก Huy Fong ซอสศรีราชาไทยชื่อดังในอเมริกา…แต่ไม่ใช่ของไทย
ซอสพริกศรีราชาตราไก่ ฝาเขียว เครื่องปรุงรสที่ต้องมีติดบ้านของชาวอเมริกัน ผลิตโดยบริษัท Huy Fong Foods ก่อตั้งขึ้นในปี 1980 โดย David Tran ชายหนุ่มชาวเวียดนามเชื้อสายจีนที่ได้อพยพลี้ภัยจากสงคราม
จากผู้ลี้ภัยสู่การสร้างแบรนด์ซอสให้กลายเป็นที่นิยมถึงขนาดครองส่วนแบ่งตลาดซอสพริกในอเมริกาไปได้กว่า 10% ติดอันดับTop 3 ซอสพริกรองจากแบรนด์ Tabasco และ Frank’s RedHot แล้วศรีราชาของไทยเราไปติดหนึ่งในสามนั้นได้อย่างไรกัน??
เริ่มจากการเดินทางของ David Tran ที่ลี้ภัยจากสงครามด้วยเรือขนส่งสินค้า Huey fong มาตั้งถิ่นฐานในอเมริกาที่ลอสแอนเจลิส
การย้ายมาครั้งนี้เขาต้องประสบปัญหาเรื่องรสชาติของอาหารที่ขาดหายไป เพราะไม่มีซอสพริกไหนถูกใจให้ทานคู่กับเฝอที่ชอบอีกแล้ว และไม่ใช่แค่เขาเท่านั้นที่รู้สึกถึงความขาดหาย กลุ่มคนผู้ร่วมอพยพก็เผชิญปัญหานี้เช่นเดียวกัน
Tran มีพื้นฐานเกี่ยวกับการทำซอสอยู่แล้วเขาจึงนำประสบการณ์นี้มาใช้ในการผลิตซอสพริกขึ้นมาที่เรียกว่า ศรีราชา ด้วยส่วนประกอบซอส 5อย่าง กระเทียม เกลือ น้ำตาล น้ำส้มสายชูและพริก ซึ่งมีสูตรต้นตำรับจากประเทศไทย
ในช่วงเริ่มต้นของการขาย Tranได้นำซอสบรรจุลงขวดนมเด็ก แล้วจัดส่งตามกลุ่มร้านอาหารเอเชียในไชน่าทาวน์ซึ่งสามารถสร้างยอดขายเดือนแรกได้ถึง 2,300ดอลลาร์หรือประมาณ 80,000บาทเพียงเดือนเดียว
ในภายหลังได้เปลี่ยนเป็นบรรจุภัณฑ์ขวดใสบีบง่ายพร้อมสัญลักษณ์โลโก้ตราไก่ที่มีความเป็นมาจากปีนักษัตรของเขา ปิดด้วยฝาจุกสีเขียวสดที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงความสดของพริก
ต่อมามีการขยายตลาดเป็นวงกว้างมากขึ้นด้วยการวางขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตเอเชีย ซึ่งมีกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจนเกิดปรากฏการณ์บอกต่อที่ทรงพลัง กลายเป็นซอสพริกที่โตเร็วมากในกลุ่มเครื่องปรุงรสโดยไม่เสียค่าโฆษณาการตลาดสักเหรียญแถมยังสร้างยอดขายกว่า 150ล้านดอลลาร์ต่อปี
ด้วยพลังการบอกต่อส่งเสริมให้เกิดคอนเทนต์ศรีราชาขึ้นมามากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงร้านอาหารหลายร้านและแบรนด์อาหารฟาสต์ฟู้ดได้มีการนำศรีราชาเป็นตัวเลือกซอสปรุงรสไม่ต่างจากมายองเนส มัสตาร์ด หรือ มะเขือเทศ กลายเป็นกระแสทั้งด้านอุตสาหกรรมอาหารและเอ็นเตอร์เทน
อีกหนึ่งความพิเศษของศรีราชาที่ช่วยเสริมมื้ออาหารให้น่าทานมากขึ้น ด้วยการนำซอสทานคู่กับอาหารหลากหลายเมนู ที่จะดึงรสชาติให้อร่อยยิ่งขึ้นเห็นได้จากผู้คนในโลกออนไลน์ต่างคิดสูตรอาหารเพื่อทานคู่กับศรีราชา
ถึงขั้นมีการเขียนหนังสือสำหรับซอสศรีราชาโดยเฉพาะที่ชื่อว่า “The Sriracha Cookbook” ขึ้นมาในปี 2011 และได้ถูกขนานนามว่า Rooster sauce
กลายเป็นหนี่งในซอสพริกที่ชาวอเมริกันต่างก็มีติดบ้านและยังเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งข่าวร้ายสำหรับชาวอเมริกันผู้รักซอสศรีราชาก็เกิดขึ้นในปี 2022
เมื่อทางบริษัท Huy Fong ได้ประกาศปัญหาสภาพอากาศที่ทำให้พริกขาดแคลนไม่สามารถผลิตวางขายได้ชั่วคราว
เหล่าแฟนพันธุ์แท้ศรีราชาตราไก่ต่างตื่นตระหนกถึงความขาดแคลนซอสพริกในครั้งนี้ เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่พูดถึงไปทั่วโลกออนไลน์โดยเฉพาะแพลตฟอร์ม Reddit (คล้ายกับ Pantip บ้านเรา) ที่ผู้คนต่างแสดงความคิดเห็นถึงการขาดแคลนครั้งนี้จนเรียกได้ว่า “วิกฤตศรีราชา”
ความตื่นตระหนักได้ทำให้เหล่าแฟนคลับต่างสำรองซอสกันถ้วนหน้า ส่งผลให้เกิดการปรับราคาสูงขึ้นตามกลไกตลาดแต่ที่น่าตกใจคือ ราคาซอสในโลกออนไลน์และราคาที่ถูกวางขายผ่าน Ebay ถูกตั้งไว้สูงถึง 150ดอลลาร์ หรือประมาณห้าพันบาทจากราคาปกติ 20ดอลลาร์ในขนาด 17ออนซ์ หรือประมาณ 500มิลลิลิตร
แม้ทาง Huy Fong ประกาศแจ้งความขาดแคลนพริกเนื่องจากสภาพอากาศแต่ในความเป็นจริง พริกที่ขาดแคลนมาจากปัญหาเรื้อรังกับบริษัทเพื่อนซี้อย่าง ‘Underwood’ ผู้จัดส่งพริกแดงฮาลาเปโนรายเดียวให้กับ Huy Fong
ด้วยคุณภาพของพริกที่สดและได้มาตรฐานทำให้ทั้งสองบริษัทต่างซื้อ-ขายมายาวนานกว่า 28ปีที่ร่วมธุรกิจกันแต่จุดแตกหักก็เกิดขึ้นปี 2017 เมื่อHuy Fong ยื่นฟ้องUnderwood ต่อศาลถึงความไม่เป็นธรรม
โดยอ้างว่าในปี2016 ได้มีการพูดคุยเรื่องพืชผลในฤดูกาลถัดไปแล้วปรากฏว่าทาง Huy Fong ทำการจ่ายเงินล่วงหน้าเกินเป็นจำนวน 1.5ล้านเหรียญซึ่งทาง Underwood มองว่าจำนวนเงินที่เกินนั้นเป็นรายได้ที่เขาสมควรได้รับจากการลงทุนขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากปีหน้ารวมถึงการทำสัญญากับชาวสวนรายใหม่
Underwood จึงตัดสินใจโต้แย้งกลับเรื่องของการละเมิดสัญญาและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการผิดสัญญาของ Huy Fong
บทสรุปศาลตัดสินให้ Underwood เป็นฝ่ายชนะจากความเสียหายที่ได้รับ Huy Fongจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นมูลค่า 23ล้านเหรียญสำหรับการยกเลิกสัญญาในทันทีและบทลงโทษที่ทำให้เกิดความเสียหาย
และนี่อาจเป็นสาเหตุหลักที่ Huy Fong ไม่มีพริกใช้ตามปริมาณที่ต้องการซึ่งในช่วงปีแรกของการแตกหักบริษัทยังคงมีพริกอยู่ในสต็อกรวมถึงมีการหาซัพพลายเออร์รายใหม่
แต่พริกที่ได้กลับไม่ตามมาตราฐานอย่างที่เคยเป็นส่งผลให้พริกขาดแคลนจนเกิดปรากฏการณ์ “วิกฤตศรีราชา” ในทางกลับกันบริษัท Underwoodได้ลงเล่นตลาดซอสพริกศรีราชาภายใต้แบรนด์ Underwood Ranch
หลังจากเผชิญสถานการณ์ขาดแคลนและได้หยุดผลิตในบางช่วง Huy Fong สามารถปรับตัวแล้วกลับมาได้อีกครั้ง
แน่นอนว่าผู้คนต่างยินดีการกลับมาวางขายซอสพริกตราไก่ แต่เมื่อซอสล็อตใหม่ถูกผลิตและวางขาย เหล่าแฟนคลับที่รอคอยต่างก็ผิดหวังเมื่อรสชาติไม่เหมือนเดิมจากความคิดเห็นในโลกออนไลน์ที่เห็นพ้องตรงกันว่า
‘ความหวานเหมือนเดิม ความเปรี้ยวเท่าเดิม แต่ความเผ็ดน้อยลง’
กลายเป็นประเด็นสำคัญและสร้างกระแสในโลกออนไลน์อีกครั้งเมื่อศรีราชาตราไก่กลับมาวางขายด้วยรสชาติที่ไม่เหมือนเดิม
นอกจากปัญหาขาดแคลนพริกที่ทำให้ซอสศรีราชามีรสชาติเปลี่ยนไปแล้ว Huy Fong ยังเผชิญกับความท้าทายในการหาซัพพลายเออร์รายใหม่ให้ได้พริกที่มีคุณภาพตามมาตราฐานอย่าง Underwood และมีสัญญาระยะยาวกับผู้จัดส่งรายใหม่ที่แน่นอน
เพื่อให้มั่นใจว่าการผลิตซอสศรีราชาจะไม่สะดุดและยังคงรักษารสชาติที่ลูกค้ารู้จักต่อไปได้
Huy Fong Foods บริษัทที่ไม่ได้ลงทุนในการโฆษณาอย่างหนักหน่วง แต่กลับประสบความสำเร็จได้ด้วยคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ลูกค้าติดใจและการตลาดที่ไปการกระจายสินค้าให้ทั่วถึงรวมถึงการรักษาคุณภาพ
ทำให้ซอสศรีราชาตราไก่ได้รับความไว้วางใจและถูกใช้เป็นส่วนประกอบหลักในอาหารหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นอาหารจานหลัก ของว่าง หรือแม้กระทั่งเครื่องดื่มค็อกเทล
ซึ่งทำให้ซอสศรีราชากลายเป็นที่รู้จักทั่วโลก แสดงพลังถึงความคิดสร้างสรรค์และความหลงใหลในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมือนใคร แม้จะเริ่มต้นจากห้องครัวเล็ก ๆ ในลอสแอนเจลิส แต่ซอสศรีราชาของ Huy Fong ก็สามารถเติบโตเป็นแบรนด์ระดับโลกที่คนรักอาหารเผ็ดไม่ควรพลาด
แหล่งที่มา
-Huy Fong Foods, Inc. – Known Worldwide for Our HOT Chili Sauces
-What really caused the sriracha shortage? 2 friends and the epic breakup that left millions without their favorite hot sauce | Fortune