ซีอิ๊วขาว Kikkoman 4สูตรเรียงกันเป็นแถวเดียว

ซีอิ๊วขาว หรือซอสถั่วเหลือง (Soy Sauce) ในประเทศไทยมีหลากหลายยี่ห้อที่เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมไม่ว่าจะซีอิ๊วขาวตราเด็กสมบูรณ์ ซีอิ๊วขาวตราเสือ หรือซีอิ๊วขาวตราภูเขาทองซึ่งแต่ละแบรนด์มีจุดเด่นของรสชาติรวมถึงกลิ่นที่ต่างกันไปโดยแบรนด์ที่ขึ้นชื่อและถูกขนานนามว่ายักษ์ใหญ่แห่งวงการผลิตซอสถั่วเหลืองคงไม่พ้น ‘Kikkoman’

ด้วยมูลค่าบริษัทกว่า 11 พันล้านดอลลาร์ และสินค้าที่กระจายไปทั่วโลกโดยเฉพาะโซนอเมริกาเหนือแหล่งรายได้หลักนอกจากนั้นยังมีการแตกไลน์ธุรกิจไปผลิตภัณฑ์อื่นไม่ว่าจะนมถั่วเหลือง ไวน์ สาเก หรือผลิตภัณฑ์อาหารญี่ปุ่นอีกหลากหลายชนิด และได้เข้าตลาดหลักทรัพย์โตเกียว(TSE) ปี 1949 ด้วยสัญลักษณ์ ‘KIKOF’

 

ศึกษาธรรมมะ…สู่ต้นตำรับความอร่อย

ซีอิ๊วขาวเริ่มต้นจากประเทศจีนในยุคราชวงศ์โจวได้สันนิษฐานว่าเกิดจากการหมักถั่วเหลืองเพื่อถนอมอาหารและเพิ่มรสชาติในกระบวนการผลิตจะหมักเข้ากับเกลือและแป้งสาลีให้เก็บไว้ได้นานขึ้น

ต่อมาพระสงฆ์ญี่ปุ่นเดินทางศึกษาศาสนาพุทธในจีนแล้วนำเทคนิคการหมักถั่วเหลืองกลับมาด้วยจนเกิดการเผยแพร่และพัฒนาซีอิ๊วขาวในญี่ปุ่นที่เรียกว่า ‘โชยุ’ หรือซอสถั่วเหลืองเวอร์ชันญี่ปุ่น

การเข้ามาของโชยุได้ถูกพัฒนาจากรุ่นสู่รุ่น จากในวัดอารามสู่การค้าเชิงพาณิชย์ มายังยุคเอโดะ(ค.ศ. 1603-1868)ที่เมืองนอดะ จังหวัดชิบะ หนึ่งในศูนย์กลางการผลิตซอสถั่วเหลืองด้วยมาตราฐานการผลิต คุณภาพวัตถุดิบ และอุณหภูมิความชื้นที่เหมาะสำหรับการหมักช่วยส่งเสริมให้รสชาติโดดเด่น

จนกระทั่งปี 1917 แปดตระกูลผู้ผลิตซอสถั่วเหลืองเมืองนอดะรวมตัวกันก่อตั้งบริษัท Noda Shoyu ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเกิดการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่สูงมากขึ้นในแต่ละเมือง

ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น Kikkoman มาจาก Kikko ที่แปลว่า กระดองเต่าถือเป็นสัญลักษณ์ของอายุยืนยาวในวัฒนธรรมญี่ปุ่นและ Man หมายถึง หนึ่งหมื่น เมื่อรวมคำกันกลายเป็นประโยคที่มีความหมายนัยยะว่า  “อายุยืนหมื่นปี” เป็นการสื่อถึงความยั่งยืน ความมั่นคงของบริษัทและสัญลักษณ์แห่งความโชคดี

 

รันวงการ ‘ซีอิ๊วขาว’ ไปทั่วโลก

หลังจากจับมือร่วมกันก่อตั้ง Kikkoman บริษัทวางแผนที่จะขยายธุรกิจเติบโตทั้งในและต่างประเทศ แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่บริษัทต้องเผชิญเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 (WAR II ระหว่างปี 1939-1945) ส่งผลให้ขาดแคลนวัตถุดิบ และปัญหาการกระจายสินค้า

เมื่อวิกฤติสงครามโลกครั้งที่2 จบลง ประเทศเข้าสู่ช่วงแห่งการฟื้นตัวรวมถึง Kikkoman ที่พยายามฟื้นยอดขายกลับมา แต่ซอสถั่วเหลืองยังไม่ได้เป็นที่ต้องการหลังการฟื้นตัวสำหรับคนในประเทศ ถึงอย่างนั้นบริษัทมองเห็นโอกาสจากความนิยมอาหารญี่ปุ่นในหมู่ทหารอเมริกันโดยเฉพาะการนำโชยุทานคู่กับเนื้อเสริมรสชาติ

โดยเริ่มเดินทางขยายตลาดต่างประเทศที่แรกในอเมริกา ด้วยแนวคิด นำโชยุปรุงเข้ากับอาหารตะวันตกให้เป็นส่วนหนึ่งมื้ออาหารแต่ละมื้อของชาวอเมริกัน ด้วยวัฒนธรรมการปรุงเนื้อของคนอเมริกันที่มีเพียงเกลือและพริกไทยเพิ่มรสชาติ

ในการวางขายครั้งนี้บริษัทเริ่มจากวางขายในร้านค้า เชิญชวนผู้คนชิมซอสคู่กับเนื้อ ซึ่งได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี แต่ก็เกิดความท้าทายในการขายว่า ‘จะทำอย่างไรให้คนกลับมาซื้อซ้ำ’ ด้วยเป้าหมายที่จะทำให้ชาวเมกันติดใจในรสชาติแล้วกลับมาซื้อมากกว่าหนึ่งขวด บริษัททำการพัฒนาสูตรมานับไม่ถ้วนเพื่อให้ได้รสชาติที่เหมาะสำหรับอาหารตะวันตก

Kikkoman สามารถสร้างยอดขายเติบโตได้อย่างที่หวังแต่ยังคงต้องเผชิญปัญหาขาดทุนจากการฟื้นตัวและค่าขนส่ง แต่ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ลดทอนความมั่นใจของผู้บริหารที่มองเห็นโอกาสในการเติบโตของโชยุอีกทั้งยังพูดคุยหารือในการสร้างโรงงานผลิตต่างประเทศ 

จนในที่สุด Kikkoman ก็ได้ตัดสินใจสร้างโรงงานผลิตแห่งแรกที่อเมริกา รัฐWisconsin ปี 1973 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นและความท้าทายใหม่ๆสำหรับปั้นโชยุให้กลายเป็นที่รู้จักทั่วโลก

kikkoman ซีอิ๊วขาว150ml

ความลับโชยุกับ 2 รูที่ฝา KIKKOMAN

ฝาขวด Kikkoman ที่หลายคนอาจไม่สังเกตหรือต้องแปลกใจเมื่อพบว่า ‘ฝามี 2รู’ แน่นอนว่าไม่ได้เกิดจากความบังเอิญหรือตั้งใจที่จะให้มีหลายซอสในหนึ่งขวด แต่เป็นการออกแบบให้เวลาเทไม่เลอะเทอะและง่ายต่อการใช้งาน

เพียงแค่ใช้นิ้วปิดอีกรูขณะเทจะช่วยควบคุมปริมาณการไหลของโชยุได้ หลังการใช้งานควนรเก็บไว้ในที่เย็นหรือเก็บในที่อับแสงซึ่งสามารถไว้ได้นานถึง 3 เดือนแต่รสชาติจะ ‘อูมามิ’ สุดช่วง 1 เดือนแรกหลังการเปิดเนื่องจากโชยุมีส่วนผสมของเกลือค่อนข้างสูง

แต่ความอร่อยก็แลกมากับเรื่องน่ากังวลของสุขภาพจากปริมาณโซเดียมที่สูงส่งผลต่อความดันโลหิตและการบริโภคกลูเตนที่ได้จากถั่วเหลืองหมักเข้ากับแป้งสาลีมากเกินไปก็อาจส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย 

เป็นเหตุให้ผู้ผลิตซอสถั่วเหลืองหลายเจ้าคิดโชยุสูตรลดโซเดียมหรือปราศจากกลูเตน รวมถึง Kikkoman ที่นำเสนอหลากหลายสูตรเพื่อสุขภาพและยังคงความ ‘อูมามิ’

 

บทสรุป

Kikkoman บริษัทผลิตซอสถั่วเหลืองที่มีชื่อเสียงระดับโลกโดยเริ่มต้นจากธุรกิจครอบครัวเล็กๆ จนก้าวเป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมซอส

ซึ่งยังคงยึดมั่นในกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมควบคู่กับนวัตกรรมใหม่ๆช่วยให้โชยุมีรสชาติกลมกล่อมและผสมผสานเอกลักษณ์รสชาติร่วมกับอาหารนานาชาติ สร้างโมเดลแห่งความสำเร็จกลายเป็นหนึ่งในซอสถั่วเหลืองที่ขายดีที่สุดในโลก 

แหล่งที่มา

-History of Kikkoman Soy Sauce | Kikkoman Soy Sauce Museum – Kikkoman Corporation

-Unraveling記事 アーカイブ – Sustainable Japan by The Japan Times

-How the Japanese Soy Sauce Became A Global Seasoning | JAPAN Forward